บทที่ 5 การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีความรับผิดชอบ

ว22103 เทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ)

จุดประสงค์ของบทเรียน

  • เลือกแนวทางปฏิบัติเมื่อพบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม

  • ใช้ไอทีได้อย่างมีความรับผิดชอบ

  • สร้างและแสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของผลงาน

  • ติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมอย่างปลอดภัย

แนวทางปฏิบัติเมื่อพบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม

การใช้งานอินเทอร์เน็ตนักเรียนจะพบข้อมูลที่หลากหลาย ทั้งข้อมูลที่ถูกต้องและข้อมูลที่มีการบิดเบือนหรือสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นหรือส่วนรวม และหากนักเรียนพบข้อมูลที่ไม่เหมาะสมเหล่านั้นนักเรียนควรปฏิบัติดังนี้

1.ปฏิเสธการรับข้อมูล

สามารถทำได้โดยไม่เปิดดู ไม่บันทึกเก็บไว้ และไม่กดไลค์ เพราะการกระทำเหล่านี้ เป็นแนวทางที่ป้องกันไม่ให้ข้อมูลดังกล่าวเผยแพร่ไปสู่ผู้อื่น

2.ไม่ส่งต่อ ไม่แชร์ ไม่เผยแพร่

เพราะนอกจากจะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนกับข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงแล้ว ในบางกรณีอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีโทษทั้งจำและปรับ

3.แจ้งครูหรือผู้ปกครอง

หากนักเรียนประสบปัญหาที่ไม่สามารถจัดการหรือแก้ไขได้เอง ให้แจ้งครูหรือผู้ปกครองเพื่อดำเนินการแก้ไขหรือติดต่อประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำเดิมไม่สิ้นสุด

4.แจ้งผู้ดูแลเว็บไซต์

กรณีที่ใช้งานข้อมูลจากผู้ให้บริการระบบรายใหญ่ เช่น Facebook Youtube ซึ่งเว็บไซต์เหล่านี้เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถรายงานปัญหาเกี่ยวกับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม

5.แจ้งเจ้าหน้าที่รัฐหรือตำรวจ

หากผู้ดูแลระบบไม่จัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น ให้ประสานงานกับหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น แจ้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่เว็บไซต์ https://www.mdes.go.th/ เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย


ผลกระทบการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสม

การไม่คำนึงถึงความถูกต้องของข้อมูลก่อนการเผยแพร่หรือส่งต่อ อาจจะส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น การกระทำที่ไม่ได้ไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนถึงความเหมาะสม อาจส่งผลโดยตรงต่อจิตใจ การเรียนรู้ การเข้าสังคม ซึ่งจะส่งผลต่อเด็กและวัยรุ่นที่ยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไม่มีทักษะชีวิตที่ดีพอ

แนวทางการพิจารณาเนื้อหาก่อนการเผยแพร่ข้อมูล

ก่อนที่นักเรียนจะเผยแพร่ข้อมูลใดลงอินเทอร์เน็ต ควรพิจารณาถึงจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลและการติดต่อสื่อสาร ซึ่งประกอบด้วย ความเป็นส่วนตัว (privacy) ความถูกต้อง (accuracy) ทรัพย์สิน (property) และการเข้าถึง (access) หรือเรียกว่า พาพา (PAPA) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  • ความเป็นส่วนตัว (privacy) เข้าใจว่าข้อมูลนั้นเกี่ยวข้องกับใคร สามารถเปิดเผยต่อผู้อื่นได้หรือไม่ภายใต้เงื่อนไขใดและมีมาตรการป้องกันอย่างไร

  • ความถูกต้อง (accuracy) ข้อมูลที่ใช้หรือนำเสนอต้องมีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ และต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดของข้อมูล รวมถึงมีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนที่จะเผยแพร่

  • ความเป็นเจ้าของ (property) ต้องรู้ว่าใครเป็นเจ้าของ มีความสำคัญหรือมีมูลค่ามากน้อยเพียงใด เพื่อให้มีการจัดการเหมาะสม รวมทั้งเคารพสิทธิของผู้อื่น เพื่อลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์

  • การเข้าถึง (access) เป็นการกำหนดหรือระบุให้บุคคลหรือองค์กรใดมีสิทธิหรือสิทธิพิเศษในการเข้าถึงหรือได้รับสิทธิภายใต้เงื่อนไขใด และมีมาตรการป้องกันอย่างไร

การสร้างและแสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของผลงาน

ข้อมูลและสารสนเทศในรูปแบบเอกสาร รูปภาพ หรือวีดิทัศน์ นับว่าเป็นทรัพย์สินประเภทหนึ่งที่เจ้าของสามารถแสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของได้หลายรูปแบบ ทั้งแบบที่เห็นชัดเจนหรือซ่อนไว้ เช่น การใส่ชื่อ การระบุสัญลักษณ์ การใส่ลายน้ำ นอกจากนี้ยังสามารถระบุเงื่อนไขการขออนุญาตให้ผู้อื่นนำไปใช้งานได้

ตัวอย่างภาพถ่ายที่มีการกำหนดลิขสิทธิ์ - การใส่ชื่อ

ที่มา : https://scontent.fbkk12-3.fna.fbcdn.net/

ตัวอย่างภาพถ่ายที่มีการกำหนดลิขสิทธิ์ - การใส่ลายน้ำ

ที่มา : https://editorial01.shutterstock.com/

creative common

Attribution (BY)

สามารถนำเนื้อหาไปใช้งาน ทำซ้ำ ดัดแปลง โดยต้องให้เครดิตกลับมาที่เจ้าของผลงาน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเจ้าของผลงานจะใส่วิธีการให้เครดิตไว้ด้วย เช่น การใส่ backlink, การใส่ชื่อนามปากกาในภาพ เป็นต้น

Share Alike (SA)

สามารถนำเนื้อหาไปใช้งาน ทำซ้ำ ดัดแปลง โดยงานที่นำไปใช้นั้นจะต้องใช้สัญญาการเผยแพร่แบบเดียวกัน (SA) ต่อไปด้วย

NonCommercial (NC)

สามารถนำเนื้อหาไปใช้งาน ทำซ้ำ ดัดแปลง โดยงานที่นำไปใช้นั้นต้องเป็นงานที่ไม่ใช่เพื่อการค้า

No Derivative Works (ND)

สามารถนำเนื้อหาไปใช้งาน ทำซ้ำ แต่ห้ามดัดแปลงชิ้นงานต้นฉบับ


มารยาทในการติดต่อสื่อสาร

การติดต่อสื่อสารผ่านบริการบนอินเทอร์เน็ตมีความหลากหลายและมีผู้ใช้จำนวนมาก มีทั้งแบบผู้ใช้สื่อสารส่วนตัว สื่อสารในกลุ่ม หรือสื่อสารสาธารณะ จึงควรมีมารยาทและปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม มีการจำกัดกลุ่มสนทนาให้อยู่ในกลุ่มสมาชิกที่เกี่ยวข้องและในช่วงเวลาที่เหมาะสม

มารยาทในการใช้อีเมล

  • ใช้ภาษาสุภาพ ชัดเจน ตรงประเด็น เหมาะสมกับกาลเทศะหรือผู้ที่จะสื่อสารด้วย

  • ใช้ตัวอักษรตัวหนาเฉพาะข้อความที่ต้องการเน้นเท่านั้น

  • ระบุหัวเรื่อง ชื่อผู้ที่จะสื่อสารด้วย และระบุตัวตนของผู้ส่งอีเมลให้ชัดเจน (เหมือนกับการเขียนจดหมายด้วยกระดาษ)

  • ระบุชื่อหรือตำแหน่งของผู้ที่จะสื่อสารให้ถูกต้องและเหมาะสม

  • เนื้อหาในอีเมลไม่ควรมีข้อความแสดงถึงเจตนาไปในทางเสื่อมเสีย ไม่ใช้ข้อความที่กำกวม ข้อความที่แสดงการตำหนิ ดูถูก ใส่ร้ายผู้อื่นให้ได้รับความเสียหาย

  • หลีกเลี่ยงการส่งอีเมลและการแนบไฟล์ที่มีขนาดใหญ่ให้ใช้ลิงก์หรือโปรแกรมในการถ่ายโอนไฟล์แทน

  • ไม่ลักลอบส่งอีเมลโดยการปลอมแปลงชื่อผู้ส่งที่ทำให้ผู้รับเข้าใจผิด

  • ไม่ส่งต่ออีเมลลูกโซ่ (Chain e-mail) เช่น อีเมลให้ส่งต่อไปหลาย ๆ คนแล้วจะได้รับผลประโยชน์

  • ไม่ส่งอีเมลขายสินค้า โฆษณา หรือข้อความที่รบกวนผู้รับ

มารยาทในการใช้แชทและเครือข่ายสังคม

  • ไม่ใช้ข้อความที่เป็นชนวนก่อให้เกิดปัญหาระหว่างบุคคลและกลุ่ม

  • หบีกเลี่ยงการใช้อารมณ์หรือความรู้สึกที่มากจนเกินไปทั้งในการอ่านหรือแสดงความคิดเห็น

  • ไม่สวมรอยหรือแอบอ้างโดยใช้ชื่อบุคคลอื่นในการแชท แสดงความคิดเห็น หรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย เพราะเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมาย